สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ตอบข้อซักถามถึงอัตราการว่างงานของคนไทยที่ สสช.สำรวจว่าอยู่ที่ 1.9% ของผู้มีงานทำ หรือประมาณ 700,000 คน สวนทางกับภาคธุรกิจเอกชนที่ ออกมาเปิดเผยว่า มีจำนวนผู้ว่างงานสูงมากนับล้านคน เช่น ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ระบุว่าจากคนทำงาน 4 ล้านคน มีผู้ที่ตกงานและออกจากระบบไปเลย 1 ล้านคน ผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลา 2 ล้านคน และอีก 1 ล้านคน ยังได้รับเงินเดือนปกติ โดยกรณีดังกล่าวต้องอธิบายว่า การทำสำรวจของ สสช. ยึดคำนิยามของผู้ว่างงาน ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และการสำรวจของ สสช.ได้พบว่าผลจากโควิด-19 พบตัวเลขผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน สูงขึ้นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานปี 2563 มี 38.5 ล้านคน ขยายตัว 1% การจ้างงานขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 0.3% การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 0.1% อัตราการว่างงานปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่ม จากปี 2562 ที่ 0.98% และชั่วโมงการทำงานโดย เฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนลดลง 17.1% ส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
แหล่งข่าว ไตรมาส 4 มีผู้เสมือนว่างงาน 2.35 ล้านคน พิษ “โควิด” ซัดคนไทยล่มจม, ไทยรัฐ, 16 มี.ค. 2564