วันที่ 6 พ.ย. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคและร้านค้าออนไลน์จำนวนมากมีการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) และการให้บริการชำระผ่าน QR Code ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้มีใช้การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางทุจริต ฟอกเงิน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ที่อาจส่งผลเสียหายต่อลูกค้าได้
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ประกาศแนวนโยบายการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้าสำหรับการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Know Your Merchant : KYM) เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจชำระเงินใช้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า โดยจะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565 ทั้งนี้ ธปท. ได้กำหนดแนวนโยบาย KYM เพี่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระเงินใช้เป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำในการกำหนดกระบวนการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า ได้แก่
1. จัดให้มีการประเมินและจัดระดับความเสี่ยงร้านค้าตามรูปแบบลักษณะและประเภทธุรกิจ โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินเป็นขั้นต่ำ
2. กำหนดนโยบายการรู้จักร้านค้าการบริหารความเสี่ยงกระบวนการควบคุมภายในการติดตามตรวจสอบและทบทวนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของร้านค้า โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายมาตรการการบริหารความเสี่ยงกระบวนการควบคุมภายในและติดตามตรวจสอบความเสี่ยงและปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ขณะที่ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. มีร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องรับบัตรเครดิต/เดบิต (EDC) ทั้งหมด 9 แสนเครื่อง และร้านค้าที่รับชำระผ่าน QR Code จำนวน 7.2 ล้านราย รวมร้านค้าทั้งหมดราว 8.1 ล้านราย ที่จะอยู่ในกระบวนการที่จะถูกตรวจสอบข้อมูลและประเมินความเสี่ยง ซึ่ง ธปท. จะมีการแบ่งประเภทความเสี่ยงของร้านค้า อาทิ ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าที่มีความเสี่ยงสูง ร้านค้าที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม เป็นต้น โดยจะมีการติดตามข้อมูลและขึ้นบัญชีร้านค้า Watch list อีกด้วย
“ปัจจุบันรูปแบบการใช้จ่ายเงินของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยสนับสนุนรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ คนไทยหันมาใช้ e-Payments ในการชำระเงินมากขึ้น เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ Mobile Banking / Internet Banking / QR code การใช้บัตรเครดิต การใช้บริการระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) เป็นต้น
ดังนั้น ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และการใช้เงินดิจิทัล สร้างประสบการณ์การเงินดิจิทัลผ่านมาตรการรัฐ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญในการดูแลระบบการเงินไทยมีความมั่นคงและปลอดภัย เป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเงิน ซึ่งนอกจากจะมีความปลอดภัยแล้ว ยังกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเสริมสร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศด้วย”.
แหล่งข่าว ไทยเตรียมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด-เงินดิจิทัล นายกฯ กำชับดูแลใช้จ่ายปลอดภัย, ไทยรัฐ, 6 พ.ย. 2564