นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เผชิญกับความเสี่ยงหลายเรื่องทั้งจากปัจจัยความไม่นอนภายนอก และแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าที่แพงตามต้นทุนสินค้า และราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนในวงกว้าง
ทั้งนี้จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายด้านทำให้คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของไทยอาจจะเติบโตในระดับต่ำอีกปี โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ประมาณ 1 – 1.5% เท่านั้น เนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศมีมาก
นายมนตรีกล่าวต่อว่าสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในส่วนของประเทศไทยมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 5% ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ระดับ 7.1% ในเดือน พ.ค.โดยเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นการปรับขึ้นจากปัจจัยเรื่องต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในหมวดน้ำมัน และสินค้าในหมวดหมู่อาหาร ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนล่าสุดมาจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นประมาณ 2% และมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 5%
ดังนั้นเงินเฟ้อในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากการฟื้นตัวหรือความร้อนแรงของเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องของต้นทุน (cost push)มากกว่าจึงไม่สามารถที่จะแก้ไขด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากในระดับของเงินเฟ้อที่เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 2% ถือว่าเป็นเงินเฟ้ออ่อนๆถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่ยอมรับได้
แหล่งข่าว ‘นักวิชาการ’ ห่วงศก.โตต่ำหลัง กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย แนะช่างน้ำหนักผลกระทบ, bangkokbiznews, 20 มิ.ย. 2565