แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 แม้ว่าเงินดอลลาร์นั้นจะอ่อนค่าลงก็ตาม ดังนั้นเราจึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้
ทั้งนี้ ในระยะสั้น หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาด โควิด-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว
ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็คาดหวังว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว หรือDeveloped Markets อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้ ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมาแข็งแกร่ง
ภาพดังกล่าวช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวเพียง6.5% จากไตรมาสก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ +8.4% โดยดัชนี S&P500 ปิดบวก +0.42% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ปรับตัวขึ้นรับรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด
แหล่งข่าว ‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่ 32.87บาทต่อดอลลาร์, bangkokbiznews, 29 ก.ค. 2564