ระเบิดเวลาอีกลูกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวขาดแคลนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานจาก 3 ประเทศ (เมียนมา-ลาว-กัมพูชา)
แรงงานต่างด้าวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพลิกฟื้น ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานในภาคการผลิตและการบริการบางประเภท ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธ
ย้อนกลับไปในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประเมินว่าปริมาณความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวมีอยู่ประมาณ 424,703 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 256,029 คน กัมพูชา 130,138 คน และลาว 38,536 คน และล่าสุดภาคเอกชนประเมินว่าประเทศ ไทยจะเกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงานต่างด้าวสูงถึง 800,000 คน
โดยประเภทกิจการที่ต้องการจ้างแรงงานมากที่สุด คือเกษตรและปศุสัตว์ ตามมาด้วยก่อสร้าง การเกษตร การผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดคือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ จันทบุรี สมุทรสาคร และระยอง
ในภาวะที่การเปิดประเทศกำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ฟันเฟืองเศรษฐกิจเริ่มกลับมาทำงานได้เกือบสมบูรณ์อีกครั้ง ภาคการผลิตที่กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน จะกลายเป็นระเบิดเวลาทำลายล้างการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปหรือไม่ นี่คือนานาทัศนะจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
แหล่งข่าว “ขาดแคลนแรงงาน” ปัญหาแก้ไม่ตก, ไทยรัฐ, 20 ธ.ค. 2564