แม้จะมีเสียงคัดค้านการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.1% และจัดเก็บภาษีกำไร (Capital Gain Tax) จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี่) แต่กระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันจะเก็บภาษีทั้ง 2 ประเภทต่อไป เพียงแต่จะทำให้การจัดเก็บมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ บล.เอเชียพลัส คาดว่า ภาษีหุ้นจะทำรายได้ให้รัฐบาลราว 21,300 ล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซี่ ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ คนที่ใช้ทรัพยากร หรือคนที่มีรายได้ ก็ควรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และเป็นการขยายฐานการจัดเก็บภาษี เพื่อนำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ แต่ที่มีการออกข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีบางเรื่องนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคส่วนนั้นๆเป็นการชั่วคราว
“เราไม่ได้ขยายฐานภาษีมานาน แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าในอดีต แต่รายได้จากภาษีต่อจีดีพีไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีข้อยกเว้นทางภาษีจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนในบางภาคส่วน แต่เมื่อการสนับสนุนมาระยะหนึ่งและถึงเวลาที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองการยกเว้นก็ควรลดลง”
รมว.คลัง กล่าวว่า การที่รัฐเข้ามาเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโทฯ แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว
ปัจจุบันประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ให้อำนาจกรมสรรพากร จัดเก็บภาษีรายได้ที่เกิดจากการขายคริปโทฯ โดยกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 ส่วนภาษีจากการซื้อขายหุ้น ก็อยู่ในกฎหมายของกรมสรรพากรแต่ได้ออกกฎหมายยกเว้นให้มา 30 ปีแล้ว
แนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ขณะนี้กรมสรรพากร กำลังหารือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนและทำให้การจัดเก็บภาษีและการยื่นแบบง่ายขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และปีที่แล้วก็มีคนที่ยื่นเสียภาษีตัวนี้แล้วด้วย
“การที่รัฐเข้ามาเก็บภาษีคริปโทนั้น ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโทฯ แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว ส่วนการเก็บภาษีจากการขายหุ้นก็เช่นกัน มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเพียงแต่ยกเว้นให้เท่านั้น”
นายอาคม กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ในต่างประเทศมีการเก็บจาก Capital gain เช่นเดียวกับภาษีคริปโทฯ ที่มีการเก็บภาษีจาก capital gain หรือจาก Transaction ซึ่งเรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ว่าจะเลือกแนวทางใด
ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนในเรื่องการเก็บภาษีคริปโทฯ ที่ต้องการให้นำผลขาดทุนมาหักออกจากผลกำไร (off set) ได้ด้วยนั้น นายอาคม กล่าวว่า เรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บ ซึ่งแนวทางการนำขาดทุนมาหักกลบ ก็อยู่ในหนึ่งของแนวทางที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วย
ขณะที่กระแสข่าวอาจจะมีการยกเว้นภาษีคริปโทฯกรณีรายได้ต่อปีไม่ถึง 2 แสนบาทนั้น เขาปฏิเสธที่จะตอบในเรื่องนี้ เพียงแต่ระบุว่า เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรกำลังพิจารณาในรายละเอียด
ส่วนภาษีจากการขายหุ้นนั้น ก็มีแนวทางว่าจะเก็บจากการขายต่อครั้ง หรือจะเก็บจาก Capital gain ซึ่งถ้าจัดเก็บจาก Capital gain จะกระทบนักลงทุนรายใหญ่ เพระมีการซื้อขายสูง ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้แนวทางใด แต่ประเทศส่วนใหญ่ จะเลือกเก็บวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่การจัดเก็บจาก Capital gain จะมีความยุ่งยากในเรื่องของ Data ที่ต้องมีความรวดเร็ว เช่น สหรัฐฯที่เก็บจาก Capital gain ซึ่งระบบสามารถบันทึกข้อมูลการซื้อขายแบบทุกนาทีได้
แหล่งข่าว “คลัง” ลุยภาษีคริปโทฯ-หุ้น “อาคม” อ้างเพื่อความเป็นธรรม-ขยายฐานภาษี, bangkokbiznews, 13 ม.ค. 2565