การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 44 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด แม้ว่าจะดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังคงระบาดในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ปัจจัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 40% ทำให้ต้นทุนในการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ในการจับจ่ายและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงในปลายไตรมาสนี้
ไตรมาสนี้ 89% ของสถานประกอบการมีการเปิดให้บริการ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจการใกล้เคียงภาวะปกติแล้ว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มาก โดยเริ่มมีการลดพนักงานและคาดว่าในไตรมาสหน้าจะลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีกหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่พัก เปิดทำการปกติ 88% มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 30% โดย 95% ของธุรกิจโรงแรมที่พักมีรายได้เข้ามาไม่ถึงครึ่งของสถานการณ์ปกติ เนื่องจากจำนวนของนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรการ RT-PCR ในการเดินทางเข้าประเทศ
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศท่องเที่ยวทั้งในภูมิภาคยุโรป อเมริกาและเอเชีย มีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติแล้ว ทุกประเทศใช้นโยบาย Ease-of-Traveling ผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศจนเกือบจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยที่ ศบค. มีมติให้ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ สทท. เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวของไทยจะพลิกฟื้นและกลับมาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ 20% ของ GDP ประเทศ สร้างงานให้คน 7.5 ล้านคนได้อีกครั้ง และที่สำคัญคือ ท่องเที่ยวเป็นกลไกที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้เร็วและลึกที่สุด เพราะ Supply Chain ของท่องเที่ยวนั้นกว้างและลึก สามารถกระจายรายได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เกษตร อาหาร สุขภาพ ไปจนถึง SME และชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้นหากภาคท่องเที่ยวกลับมา ความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะดีขึ้นได้ทันที
พร้อมย้ำว่า เราจะต้อง Re-Design การท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน โดยสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ สมดุลด้านการตลาด (Demand-Supply) สมดุลด้านสินค้า (Natural-Manmade) และสมดุลเชิงพื้นที่ (City-Community)
แหล่งข่าว “สทท.” ชี้จุดรอดท่องเที่ยวไทย ทัวริสต์ต่างชาติปี 65 ต้องถึง 16 ล้านคน!, bangkokbiznews, 29 มี.ค. 2565