“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ขึ้นหรือลง มีผลอย่างไรต่อ “ค่าครองชีพ” ?

WealthUp

Moderator
Staff member
Optimized-14.jpg

เมื่อมีการประกาศปรับขึ้น-ลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงตัวเดียว ก็สามารถบอกได้ถึงการขึ้นหรือลงของดอกเบี้ยตัวที่เหลือได้ เพราะหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้จะมีทิศทางขาขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้จะอยู่ในขาลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีผลต่อเราในแง่แรงจูงใจต่อการฝากเงินกับธนาคารที่มากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจากการฝากสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้เรามีแรงจูงใจต่อการกู้เงินต่ำลง

อีกหนึ่งตัวแปรที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั่นคือ “ค่าเงินบาท” ที่ไม่ว่าจะ “อ่อนค่า” หรือ “แข็งค่า” ก็ล้วนมีผลต่อระดับเงินเฟ้อในประเทศ

เศรษฐกิจไทยที่มีลักษณะเปิด (Open Economy) หรือมีการทำการค้าขายกับต่างประเทศ และมีการปล่อยให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศอย่างเสรี สิ่งนี้เองที่ทำให้การปรับขึ้น-ลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อการควบคุมทิศทางค่าเงินบาท

หากใครเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เงินจะไหลจากที่ต่ำไปยังที่สูง” ในทีนี้หมายถึงไหลจากพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปยังพื้นที่ที่มีผลตอบแทนสูง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างประเทศต่างๆ หากระดับอัตราดอกเบี้ยในไทยต่ำกว่าต่างประเทศ จะส่งผลให้เงินทุนบางส่วนไหลออกจากประเทศ

เมื่อเกิดการไหลออกของเงินดังข้างต้น เงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากมีความต้องการขายเงินบาท เพื่อแลกซื้อเงินตราต่างประเทศที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของค่าเงินที่เปลี่ยนไปอาจไม่ได้มาจากเพียงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่สามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินสกุลนั้นๆ เป็นต้น จึงเป็นที่มาให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคือหนึ่งในเครื่องมือช่วยปรับทิศทางของค่าเงิน เพราะสามารถส่งผลกระทบถึงกันได้

ทั้งนี้ทิศทางของค่าเงินยังส่งผลต่อระดับเงินเฟ้อและค่าครองชีพ โดยการอ่อนค่าของเงินจะมีผลให้ “สินค้านำเข้า” ราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่สำคัญและจำเป็นอย่าง สินค้าพลังงานหรือ “น้ำมัน” ที่เมื่อราคาแพงขึ้น ก็ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย

ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยที่พึ่งพาภาคการส่งออกราว 70% ของจีดีพี เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า ก็มีผลให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะต่างประเทศต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าไทย ซึ่งกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมักถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เช่น หากค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป ก็อาจมีการพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น

แหล่งข่าว “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ขึ้นหรือลง มีผลอย่างไรต่อ “ค่าครองชีพ” ?, bangkokbiznews, 08 เม.ย. 2565
 

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,180
Messages
12,435
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top