สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สังอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุ 60 ปี หรือมากกว่าที่ 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่จำนวนประชากรเกิดใหม่ของไทยลดลงต่อเนื่องจนกระทั่งล่าสุดปี 2564 มีการเกิดเพียง 544,570 คน เป็นระดับต่ำที่สุด
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงใกล้ระดับ 1 คือ อัตราการเกิดใกล้เคียงประชากรเสียชีวิตทำให้จำนวนประชากรไม่เพิ่ม ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้แรงงานในระบบเศรษฐกิจลดลง
ทั้งนี้ อีก 18 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเพิ่มจาก 12.2 ล้านคนในปี 2564 เป็น 20.4 ล้านคนในปี 2583 ในขณะที่ประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรลดลงจาก 3.5 คนต่อ 1 คน เหลือเพียง 0.6 คนต่อ 1 คน ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มจาก 28.4 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2564 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583
รวมทั้งปี 2564 เป็นครั้งแรกที่ประชากรเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน โดยอยู่ที่ 5.4 แสนคน น้อยกว่าประชากรที่เสียชีวิตที่มี 5.6 แสนคน ซึ่งจะทำให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงหากประชากรเกิดใหม่ไม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มสูงขึ้นเร่งให้โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น
แหล่งข่าว “เกิดน้อย”ระเบิดเวลาทุบเศรษฐกิจ “สศค.-สศช.”แนะปฏิรูปการคลัง-แรงงาน, bangkokbiznews, 17 ก.พ. 2565