ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไออาร์พีซี ได้กำหนด แผนการลงทุนใน 5 ปี (2564-2568) ด้วยงบกว่า 30,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO V (Ultra Clean Fuel Project : UCF) ใช้วงเงินลงทุน 13,000-14,000 ล้านบาท และที่เหลือใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การซ่อมบำรุงเครื่องจักร
รวมไปถึงการการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นตามวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว” หรือ To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร
ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้จากการขายสุทธิ 56,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับ ไตรมาส 1 ปี 2564 โดยรายได้จากราคาขายเพิ่มขึ้น 16% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 2% ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 194,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 4% เนื่องจากในไตรมาส 1 ปีนี้ มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของหน่วยผลิต ADU1 ของโรงกลั่นน้ำมันเป็นเวลา 17 วัน บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 8,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% มีสาเหตุหลักจากส่วนต่างราคา ผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุน Crude Premium ปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 2564 มีรายได้จากการขายสุทธิ 105,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรกปี 2563 ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 43% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 190,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1% และไออาร์พีซี มี Market GIM อยู่ที่ 15,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88% เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายจากการที่ทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น
ในขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร ซึ่งทำให้ไออาร์พีซีมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 8,509 ล้านบาท หรือ 7.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบด้วย กำไรจากสต๊อกน้ำมัน 8,329 ล้านบาท และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง 180 ล้านบาท เทียบกับครึ่งแรกของปี 2563 ที่ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 6,722 ล้านบาท ส่งผลให้ไออาร์พีซี มี Accounting GIM 24,201 ล้านบาท หรือ 22.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 22,589 ล้านบาท หรือ 21.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่าใช้จ่ายดำเนินงานมีจำนวน 6,634 ล้านบาท ลดลง 3% ส่งผลให้ไออาร์พีซี มี EBITDA จำนวน 17,678 ล้านบาท เทียบกับครึ่งแรกของปี 2563 ที่มีผลขาดทุนของ EBITDA จำนวน 4,932 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 10,155 ล้านบาท ซึ่งเป็นมากจากความต้องการของตลาดจาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนครึ่งปีหลังก็ยังมีความท้าทายอยู่ ซึ่งต้องดูประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าและการกระจายของวัคซีน
แหล่งข่าว “ไออาร์พีซี”โชว์แผน5ปี รุกนวัตกรรม“เมกะเทรนด์”, bangkokbiznews, 21 ส.ค. 2564