วันนี้มาว่ากันด้วยตัวเลขสถิติ จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆดูบ้าง
นิด้าโพล เปิดผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 2,018 หน่วยตัวอย่าง ระหว่าง 20-23 ก.ย.ที่ผ่านมา
ปรากฏว่าส่วนใหญ่ 32.61% ยังหาคนที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯไม่ได้
รองลงมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล
ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุน ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ 30.82% ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย 22.50% หนุนเพื่อไทย 15.11% หนุนก้าวไกล 9.51% หนุนพลังประชารัฐ 7.78% หนุนประชาธิปัตย์ 4.86% บอกไม่สนใจ 2.68% หนุนเสรีรวมไทย 1.93% หนุนไทยสร้างไทย 1.39% หนุนพรรคกล้า และ 1.14% หนุนภูมิใจไทย
เมื่อเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่แล้ว พบว่า ผู้สนับสนุนพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย กล้า และภูมิใจไทย มีสัดส่วนลดลง ขณะที่ผู้สนับสนุนเพื่อไทยกับก้าวไกลเพิ่มขึ้น นั่นคือผลสำรวจความนิยมประชาชนรายไตรมาส ทีนี้มาดูผลสำรวจความคิดเห็น 150 ซีอีโอเมืองไทย ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ระหว่าง 20-26 ก.ย. โดยกรุงเทพธุรกิจบ้าง
เป็นการสำรวจหลังเสร็จศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เกิดแรงกระเพื่อมการเมือง แบ่งกลุ่มก๊กเกิดการต่อรอง สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล จนอาจกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูประเทศในภาวะวิกฤติโควิด รวมถึงแผนการเปิดประเทศ พบว่า 82.4% ไม่มั่นใจเสถียรภาพการเมืองในปัจจุบัน 52% ชี้ว่าส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจมาก
นอกจากนี้ ซีอีโอส่วนใหญ่ 39.6% แนะทางออกด้วยการยุบสภา 38.3% ให้ปรับคณะรัฐมนตรี 24% หนุนอยู่จนครบเทอม และ11% แนะให้ลาออก ส่วนข้อเสนอทางออกอื่น เช่น ให้แก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจส.ว. สกัดคนนอกมาเป็นนายกฯ จากนั้นค่อยยุบสภาเลือกตั้งใหม่
เมื่อดูในรายละเอียดของข้อเสนอ ซีอีโอบางส่วนเห็นว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะระบบราชการ กฎหมาย รวมถึงการคอร์รัปชัน ปรับโครงสร้างทางการเมือง ผ่าตัดประเทศ ไทย ทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้น สร้างความโปร่งใสในทุกเรื่อง
แหล่งข่าว 150 ซีอีโอไทย : ดัชนีชี้วัด, ไทยรัฐ, 30 ก.ย. 2564