บล.เอเซียพลัส ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือน ส.ค. มีหลายตัวแปรบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นไทยอาจจะขาด Fund Flow เข้ามาหล่อเลี้ยง ดังนี้ 1.การเผชิญกับ Covid-19 รอบที่ 4 กดดันให้เม็ดเงินไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย โดย Covid-19 ระลอกใหม่เริ่มส่งผลให้เห็นในตัวเลข PMI สหรัฐฯและจีนลดลง
ขณะที่ในไทยตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ระดับ 1.7-1.8 หมื่นรายต่อวัน (สัดส่วนต่อประชากรสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย) และทางสาธารณสุขประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นอีก 2-2.5 หมื่นราย/วัน ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ประเด็นนี้น่าจะเห็น Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย กดดัน Bond Yield ทั้งไทยและต่างประเทศลดลง ขณะเดียวกันน่าจะส่งผลให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อไป และน่าจะคงไปถึง 1H65 เป็นอย่างน้อย เพื่อประคองเศรษฐกิจ
2.ตลาดหุ้นไทยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา Underperform ตลาดหุ้นมาก ถือว่ามีความเสี่ยงที่ MSCI อาจลดน้ำหนักหุ้นไทยลงอีกได้ใน ส.ค.นี้ เริ่มจากช่วงปลาย พ.ค.หุ้นไทยมีสัดส่วนอยู่ในดัชนี MSCI Emerging Market ราว 1.7% หลังจากนั้นถึงปัจจุบันตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงถึง -3.9% Underperform กว่าตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI) ที่ +2.5% และตลาดหุ้นเกิดใหม่ไม่นับจีน (MSCI Emerging Ex China) -0.6% ทำให้เป็นไปได้สูงที่อาจเห็นการลดน้ำหนักหุ้นไทยบางบริษัทที่อยู่ในดัชนี MSCI ลง!!
3.สถิติเดือน ส.ค.และความกังวล Tapering QE ของ Fed มักกดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากหุ้นไทย จากสถิติ Fund Flow มักไหลออกจากตลาดหุ้นไทยสูงสุดเดือน ส.ค.เฉลี่ย 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะเดือน ส.ค.56 ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงกังวลการปรับลด QE ของ Fed กดดัน Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 4.4 หมื่นล้านบาท กดดัน SET Index ปรับฐานแรงถึง 9% ในเดือนเดียว
ทั้ง 3 ความเสี่ยงล้วนเข้ามากดดันพร้อมกันในเดือน ส.ค. ทำให้ความคาดหวังจะเห็น Fund Flow เข้ามาช่วยหนุนหุ้นไทยเดือนนี้มีโอกาสน้อยลง แนะกลยุทธ์เน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดี มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ที่สำคัญมีสัดส่วนการถือครองจากต่างชาติน้อย อย่าง NER, MCS และ JMART!!
แหล่งข่าว 3 ปัจจัยสกัดฟันด์โฟลว์, ไทยรัฐ, 4 ส.ค. 2564