เหตุผลที่คิดว่าถ้าทนให้ถึงสิ้นปีนี้ได้จะไม่ “สู่ขิต” (ล้มหาย ตายจาก) ก็เพราะ...
1. แนวโน้มสถานการณ์ของโควิดในประเทศเริ่มดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน คำว่าดีขึ้นไม่ได้หมายถึงเหลือตัวเลขผู้ติดเชื่อแค่หลักร้อยหลักพันนิดๆต่อวัน แต่ดีขึ้นหมายถึงตัวเลขไม่มากเท่าหลักวันละเกือบสองหมื่นรายเหมือนในเดือนที่ผ่านๆ มา เมื่อแนวโน้มเริ่มดีขึ้นมาบ้าง..
2. ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ส่งผลให้ “กิจกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน” และ “กิจกรรมการตลาด” ของภาคธุรกิจในแต่ละสินค้า-บริการต่างทยอยออกมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะธรรมชาติของธุรกิจทุกขนาด ไม่สามารถอยู่นิ่งโดยไม่ทำอะไร แต่ละธุรกิจต่างก็พยายามปรับตัวหรือเคลื่อนไหวเพื่อให้มีกิจกรรมการติดต่อกับลูกค้าในรูปแบบต่างๆ บ้างก็เป็นแบบเดิม บ้างก็ผสมผสานรูปแบบการติดต่อแบบเดิมกับแบบใหม่ทาง Online
3. ธรรมชาติของคน ต้องกินต้องจับจ่าย และมีจำนวนไม่น้อยที่ยัง “คุ้นชิน” รวมไปถึง “โหยหาวิถีชีวิตแบบเดิม” ถึงแม้แต่ละคนก็ยังกังวลกับการติดเชื้อ แต่เนื่องจากส่วนมากก็อัดอั้นกันมานาน ใช้ชีวิตกินและช้อปผ่านทาง ออนไลน์กันมานานหลายเดือน ทำให้หลายๆคนเริ่มคันมือคันเท้าอยากออกไปข้างนอก เพราะคันปากอยากไปเม้าท์กับเพื่อนฝูงหรือญาติมิตรแบบเจอหน้าเจอตา ในร้านอาหารในร้านกาแฟ เพราะเบื่อกับการเม้าท์ผ่านหน้าจอมือถือหน้าจอ Computer ผ่าน zoom หรือโปรแกรมต่างๆแล้ว
4. เจ้าของธุรกิจและชีวิตส่วนตัวของทุกๆ คนเมื่อ “อึด ถึก ทน” มาจนถึงวันนี้ได้ ก็เริ่ม “ชินและปรับตัว” ให้อยู่ร่วมกับสถานการณ์การระบาดในแต่ละวันได้อย่างไม่สะทกสะท้าน (เหมือนกับได้รับ วัคซีนทางใจกันมาเรียบร้อยว่า คงไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าช่วงที่ผ่านมา หรือต่อให้สถานการณ์กลับมาเลวร้ายอีกก็รู้ว่าต้องทำยังไงให้ทนให้ผ่านไปให้ได้อีกครั้ง)
5.ภาครัฐก็พยายามกระตุ้นพยามยามช่วยเหลือโดยออกมาตรการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง (นอกจากจะช่วยเหลือภาคประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือตัวเองของภาครัฐไปด้วย เป็นการหาเสียงล่วงหน้าไปในตัวเพราะสถานการณ์ทางการเมืองของภาครัฐในเวลานี้ อึมครึม เชือดเฉือน ขบเหลี่ยมกันเองภายในของพรรคพลังประชารัฐของสามลุงนั่นแหละ ไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งกันในเร็วๆนี้หรืออย่างช้าในปีหน้าหรือไม่)
การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ยิงมาเป็นชุดต่อเนื่องในช่วงนี้จะมากจะน้อยก็จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยให้มีความคึกคักมาบ้าง และภาครัฐต้องแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วมในต่างจังหวัดหลายจังหวัดอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเกิดความเดือดร้อนอย่างหนักกับประชาชนแล้วกำลังซื้อของจังหวัดเหล่านี้ก็จะชะงัก ในส่วนของภาคการเงิน ธนาคารทั้งหลายต่างก็พยายามหาวิธีการช่วยลูกค้าที่เป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเพื่อให้รอดไปด้วยกัน
6. ไตรมาสสุดท้ายของปี ถ้าเป็นช่วงปกติก่อนมีโควิด ภาคธุรกิจจะคึกคักมาก เป็นช่วงเวลาของสีสันและการแข่งขันแย่งชิงเม็ดเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคเพื่อปิดยอดขายสิ้นปีให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ธุรกิจที่ยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน จะอาศัยไตรมาสสุดท้ายนี้แหละ เป็นแรงเหวี่ยงเพื่อสร้างโมเมนตั้มให้ธุรกิจของตนเองมาอยู่ในทางเลือกต้นๆของลูกค้า และมีหลายๆธุรกิจที่เตรียมความพร้อมในเรื่องคน มีการฝึกฝนพัฒนา ถึงแม้แนวทางการเรียนรู้การฝึกฝนจะผ่านทาง Online ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ก็ดีกว่าหยุดนิ่ง เพื่อเตรียมคนเตรียมทีมมาลุยในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้และต่อยอดไปจนถึงต้นปีหน้า
แหล่งข่าว 6 เหตุผลที่ควร..ทนอีกนิด แล้วจะไม่ “สู่ขิต!”, bangkokbiznews, 03 ต.ค. 2564