นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง.ครั้งที่ 2 /2566 ในวันที่ 29 มี.ค. 2566 ว่า คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก1.50 เป็น 1.75% โดยให้มีผลทันที
โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์
ดังนั้นคณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน
ขณะที่การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากปี 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2566 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2567 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาจำกัด รวมถึงธนาคาพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างจากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์คลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวนขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น
จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
แหล่งข่าว 'กนง.' มีมติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75%, bangkokbiznews, 29 มี.ค. 2566