ม็อบทํากระทบตลาดหุ้นร่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินซํ้า ฉุด "ความเชื่อมั่น"

Foun Thai

Administrator
ตลาดหุ้นร่วงแรง ผลกระทบจากม็อบ 14 ต.ค. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสถานการณ์การเมือง ฉุดความเชื่อมั่น ย้ำการเมืองรุนแรง ลากยาว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐไร้ผล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ จับตาสถานการณ์ชุมนุมบานปลายหรือไม่ หากรุนแรงจะกระทบความเชื่อมั่น ซ้ำเติมเศรษฐกิจชาติพังหนักไปอีก ชี้หากทุกอย่างคลี่คลายรัฐบาลต้องเร่งยกเลิกประกาศฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. บรรดาผู้นำและนักธุรกิจจากภาคเอกชน ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ หลายฝ่ายหวั่นเกรงกันว่า อาจจะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่มีความบอบช้ำอยู่แล้วจากพิษโควิด-19 ยิ่งบอบช้ำเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล พิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศชาติเข้าสู่สภาวะปกติและเกิดความสงบ

1602815964847.png
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังจับตาสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรอย่างใกล้ชิดว่าจะบานปลายหรือไม่ เวลานี้ยังเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ หากควบคุมสถานการณ์ได้ก็จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นมากนัก แต่ถ้าบานปลายเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น จะกระทบกับความเชื่อมั่นและซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างแน่นอน ดังนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาว่าข้อเรียกร้องเรื่องใดของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม อยากให้รัฐบาลนำมาพิจารณา ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง หากทุกอย่างเข้าสู่สถานการณ์คลี่คลาย อยากให้รัฐบาลเร่งยกเลิกประกาศเพื่อให้สถาน การณ์ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติและสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน

ด้านนายอัฐพล รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่มีการประท้วงเกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นปัญหาระยะสั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการลงทุนของประเทศไทยมากนัก เพราะนักลงทุนโดยเฉพาะญี่ปุ่นมีความเข้าใจกับปัญหาการเมืองของประเทศไทย เพราะการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น
ส่วนนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บล.ทิสโก้ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ สะท้อนถึงปัญหาการชุมนุมที่ทวีความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากการชุมนุมไม่บานปลายไปสู่ความรุนแรงและไม่ยืดเยื้อ ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะมีจำกัดและเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น จะขึ้นอยู่กับการรับมือของรัฐบาล แต่ถ้าเริ่มเกิดความรุนแรงขึ้น หรือมีแนวโน้มการชุมนุมจะลากยาวและขยายตัวขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในวงกว้าง จะยิ่งซ้ำเติมภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ระหว่างนี้รัฐบาลควรเร่งขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ออกมารวดเร็วยิ่งขึ้นและออกมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยยังกล่าวถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้นว่า หากอ้างอิงจากการศึกษาความเคลื่อน ไหวของราคาหุ้น ในช่วงที่มีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้งในอดีต ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) จะปรับตัวลงเฉลี่ย 2% ในช่วง 3 วันทำการแรกและต่างชาติมักจะเป็นผู้ขายสุทธิ แต่หลังจากนั้น ตลาดหุ้นจะเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา โดยจะเคลื่อนไหวตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและปัจจัยอื่นที่เข้ามามีผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ความรุนแรงของการชุมนุมทางการเมืองที่ส่อความรุนแรงจนส่งผลให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค. ส่งผลกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทย วันที่ 15 ต.ค.ให้ปรับตัวลดลงรุนแรงในช่วงบ่ายก่อนปิดตลาด เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการชุมนุมทางการเมืองมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน จากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 รอบสอง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยมาปิดตลาดที่ระดับ 1,242.96 จุด ลดลง 21.03 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 54,208.99 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,739.51 ล้านบาท

นายปิยภัทร์ ภัทรภูวดล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง ยอมรับว่า ประเมินได้ยากในภาพระยะสั้น ดังนั้น ต้องรอติดตามสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่ราชประสงค์ มองว่าหากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ รุนแรง เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้แน่นอน ทั้งนี้ ดัชนีที่ลงแรงในช่วงบ่าย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มส่งคำสั่งขายออกมา ทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น

1602816000870.png

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ถึงกรณีรัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินเพื่อคุมสถานการณ์การชุมนุมนั้น มองว่า เป็นความจำเป็นของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเข้าไปดูแลสถานการณ์และยังเป็นการประกาศเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ทางฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าไปดูแล ถ้าไม่ทำก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจ ส่วนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรนั้นยังมองยาก อย่าให้คาดการณ์ตอนนี้เลย ขอดูแลเฉพาะงานที่ทำดีกว่า

ขณะเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะอาจจะคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ความสงบโดยเร็ว สร้างความมั่นคงและปลอดภัย เพราะมีแนวโน้มว่าประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างกันจะปะทะกันเอง และสถานการณ์อาจลุกลามบานปลาย ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษแก้ปัญหาทางการเมือง แต่ในเชิงจิตวิทยา มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงหนัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่ หากม็อบสลายตัวเร็วและไม่ยืดเยื้อปักหลัก ก็จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่ถ้าการชุมนุมรุนแรง ยืดเยื้อยาวนาน ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐก็จะไม่มีผล

แหล่งข่าว ไทยรัฐ
 

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,127
Messages
12,382
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top