นับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน พบ “ต่างชาติ” โยกเงินออกไปแล้วนับแสนล้านบาท นักลงทุนต่างรอคอยการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมไปถึงการแถลงนโยบายครั้งแรก โดย “พรรคก้าวไกล” ซึ่งว่ากันว่าความเข้มข้นของนโยบายหลักอาจเป็นตัวชี้เป็น-ชี้ตาย ของภาวะตลาดนับหลังจากนี้
ไทม์ไลน์การ “จัดตั้งรัฐบาล” อย่างสมบูรณ์แบบ ที่ส่อแววว่าจะขยับออกไป ไม่ทันต้นเดือนสิงหาคมจากคำร้องต่างๆ ที่ไหลเข้ามาในการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ภาคเอกชนเริ่มมีความกังวลใจมากขึ้นถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง อาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดกันไว้ โดยเศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะที่สหรัฐฯ-ยุโรป ยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยแรง ทำให้เครื่องยนต์หลักอย่าง “การส่งออก” ของไทย ติดลบติดต่อกันมาแล้ว 7 เดือน แต่ภาคอุตสาหกรรมยังต้องรักษาการผลิตไว้เพื่อพยุงการจ้างงานไม่ให้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังมีปัญหาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะ SME ที่แบกรับภาระ “ดอกเบี้ย” แพงว่าผู้ผลิตขนาดใหญ่ ยังไม่นับรวมแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท
นายเกรียงไกร เผยว่า ได้มีการเจรจาพูดคุยกับทูตในโซนยุโรป พบหลายประเทศ กำลังจับตาดูการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์การเมืองในไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากผลการเลือกตั้งในประเทศสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่
“ต่างชาติ” ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญในแง่เศรษฐกิจไทย ผ่านการค้า-การลงทุน ก็ตื่นตัวถึงการเปลี่ยนแปลงในไทยเช่นกัน อีกทั้งการเมืองยังมีผลต่อทิศทางความร่วมมือ การเจรจาทางการค้า และการลงทุนหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีข้อตกลงร่วมกับหลายๆ ชาติ ก่อนหน้านี้
แหล่งข่าว หวั่นตั้งรัฐบาลไม่ทัน ส.ค. ทุนต่างชาติหนีซบเวียดนาม ฉุดจีดีพีเหลือโตแค่ 2%, ไทยรัฐ, 09 มิ.ย. 2566