เศรษฐกิจซอมบี้

Jettarin.Su

Moderator
12.jpg

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเริ่มได้ยินคำว่าบริษัทซอมบี้ หรือ Zombie Firms กันมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจของไทยก็จะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ Zombie Economy ด้วย

บริษัทซอมบี้นั้นถึงแม้จะยังคงมีกระแสเงินสดเป็นบวก มีเงินสดเพียงพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่กำไรที่ได้จากการดำเนินงานนั้นไม่เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ และเงินต้นที่จะต้องจ่ายคืนในงวดนั้นๆ อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้ยังคงมีเงินสดและสามารถอยู่รอดได้ (เหมือนซอมบี้) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ที่ยังทำให้สามารถกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ มาหมุนเวียนต่ออายุได้เรื่อยๆ

ที่สำคัญคือความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ที่ขยายเวลาพักชำระหนี้และมาตรการอื่นๆ จึงยังทำให้เสมือนว่าบริษัทเหล่านี้ยังสามารถดำเนินการอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ถ้าหยุดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ บริษัทเหล่านี้อาจจะต้องปิดกิจการลง

ดังนั้น จึงมีการเปรียบเปรยบริษัทที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวว่าเป็นบริษัทซอมบี้ที่ควรจะปิดกิจการไปแล้ว แต่ยังคงอยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ และถ้าประเทศใดที่มีบริษัทที่เป็นซอมบี้มากๆ สุดท้ายก็จะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็น Zombie Economy ไปด้วย

ก่อนภาวะโควิด เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่ดี ก็เริ่มมีการเขียนถึงการกลับมาของ Zombie Economy กันอีกครั้ง อย่างไรก็ดี โควิดกลับเป็นตัวกระตุ้นของ Zombification ให้เร็วและแรงมากขึ้น จนปัจจุบันนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ Zombie Economy เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวอันเนื่องมาจากโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะโควิด

มีสองมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Zombie Economy โดยในมุมมองแรกนั้นมองว่ามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ ของภาครัฐนั้น กลับยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดบริษัทซอมบี้และ Zombie Economy มากขึ้น ในหลายๆ ประเทศที่มีมาตรการพักหรือผ่อนผันการชำระนี้ จะทำให้ตัวเลขของ NPL ในประเทศนั้นๆ ไม่ได้สะท้อนภาพของธุรกิจที่ประสบปัญหาจริงๆ เนื่องจากการที่ธุรกิจได้รับการพักหรือผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งสุดท้ายธุรกิจเหล่านั้นก็จะกลายเป็นบริษัทซอมบี้ไปโดยไม่รู้ตัว

ภายใต้มุมมองนี้มีแนวคิดว่าภาครัฐของแต่ละประเทศควรที่จะสนับสนุนบริษัทที่ยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปแทนที่จะมาสนับสนุนบริษัทซอมบี้ อีกทั้งควรปล่อยให้การดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของบริษัทนั้น

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมมองหนึ่งนั้นก็มองว่าถ้ารัฐปล่อยให้บริษัทซอมบี้เหล่านี้ต้องเลิกหรือปิดกิจการไปจริงๆ จะนำไปสู่ปัญหาลูกโซ่ที่ลุกลามและขยายใหญ่ยิ่งขึ้นไป อีกทั้งปัญหาการว่างงานที่จะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากคนว่างงานมากขึ้น และจากปัญหาเศรษฐกิจก็จะลามไปสู่ปัญหาสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มากขึ้น รวมไปถึงปัญหาอาชญากรรมที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ในภาวะที่ยังมองไม่เห็นว่าปัญหาจากโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ดูเหมือนว่า Zombie Economy จะกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ จะต้องเผชิญ

แหล่งข่าว เศรษฐกิจซอมบี้, Bangkokbiznews, 11 พ.ย. 2563
 

Members online

No members online now.

Forum statistics

Threads
12,145
Messages
12,400
Members
319
Latest member
SEO01

สนับสนุนโดย

Top